กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์ ร้านอาหารไม่ทน ม็อบเยียวยา หน้าสภา

กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์ ร้านอาหารไม่ทน ม็อบเยียวยา หน้าสภา เมื่อ 6 ก.ค.64 บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาล จำนวนประมาณ 20 คน

วัตถุประสงค์ จัดกิจกรรมแบงค็อกแซนด์บ็อกซ์ (Bangkok Sandbok) โดยนำอาหารมาจัดจานเสิร์ฟ จำลองบรรยากาศคล้ายกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งรับประทานอาหารริมทะเล ขณะไปเปิดงานภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)

เวลา 16.15 น. กลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร จำนวน 300 ร้านค้า ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องเพื่อช่วยเหลือร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อและจากมาตรการของรัฐบาลไปยังรัฐบาล มีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือไว้

เวลา 16.30 น. กลุ่มผู้ประกอบการฯ ได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องเพื่อช่วยเหลือร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อและจากมาตรการของรัฐบาล

ระบุว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ร้านอาหารวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงและถูกสั่งห้ามจำหน่ายอาหารให้บริโภคในร้านในทุกระลอก จนล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน เวลา 01.00 น. ก็ได้มีคำสั่งห้ามจำหน่ายอาหารให้บริโภคในร้านอีกครั้ง ทั้งที่เพิ่งการอนุญาตให้กลับมาเปิดบริโภคในร้านแบบมีมาตรการได้เพียง 5 วันเท่านั้น

มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างหนักต่อร้านอาหารจำนวนมาก เช่น การสต๊อกสินค้า ที่สวนใหญ่ร้านอาหารจะวางแผนในการสั่งมาเป็นจำนวนมาก การจ้างพนักงานที่อาจต้องมีการเรียกตัวพนักงานกลับจากพื้นที่บ้านเกิด บางร้านเตรียมลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเริ่มกิจการใหม่

นอกจากนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารมากมายต่างสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมากจนเกือบจะดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้จากมาตรการต่างๆ ดังนั้นเครือข่ายร้านอาหารผู้ประสบภัยโควิดจึงได้ขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการอย่างเหมาะสม โดยมี 3 ประเด็นดังนี้

1.ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือค่าเช่าร้านของผู้ประกอบการ 6 เดือน โดยมีการสั่งการไปยังเจ้าของพื้นที่ให้หยุดเก็บค่าเช่าจากผู้ประกอบการ 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป และรัฐบาลต้องช่วยเหลือค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปยังเจ้าของพื้นที่เอง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการการได้มีช่วงเวลาในการฟื้นฟูกิจการในสถานการณ์ ซึ่งมีอุปสรรคจากเรื่องการแพร่ระบาดของโรคอยู่แล้ว

2.ผ่อนคลายมาตรการ ให้ร้านอาหารสามารถกลับมาเปิดให้นั่งที่ร้านได้ โดยมีมาตรการต่างๆ ตามเหมาะสม เช่น รักษาระยะห่าง จำกัดจำนวนผู้เข้าใช้ ให้ผู้มาใช้บริการแสดงเอกสารการฉีดวัคซีนก่อนเข้าร้าน ทั้งนี้จากตัวเลขสถิติที่ผ่านมา จะเห็นว่าการเปิดให้บริโภคอาหารที่ร้านได้ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักในการแพร่ระบาด และการเปิดอย่างมีมาตรการกลับเป็นการช่วยลดการแพร่ระบาดที่คนจะไปแออัดในบ้าน หรือออฟฟิศ ในระหว่างการรับประทานอาหารด้วยซ้ำ

3.ระดมฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกอบการอาชีพชั้นแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนมาก ระบุตัวตนได้ยาก แต่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของธุรกิจรายย่อยและร้านอาหารต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ร้านอาหาร ไม่เป็นธุรกิจที่เสี่ยง และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้

อ่านต่อ