คริษฐ์ ราษฎร2563 รับข้อหา ที่โรงพัก ให้การปฏิเสธ

เมื่อ 15 ก.พ. 64 ที่ สน.พหลโยธิน กรณี นายคริษฐ์ อร่ามพิบูลกิจ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อายุ 18 ปี สมาชิกกลุ่ม “คะน้าราดซอส”​ เข้ารับทราบ 8 ข้อหา รวมข้อหามาตรา 112 “ หมิ่นประมาทกษัตริย์” และ มาตรา 116 “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา หลังถูกกล่าวหาว่าขึ้นปราศรัยในเวทีย่อยของการชุมนุม ที่ห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 63 โดยเขาไม่ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา แต่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาเนื่องจากพนักงานสอบสวนสน.พหลโยธิน โทรศัพท์ติดต่อให้มารับทราบข้อกล่าวหา มวลชน 5 คน

เวลา 09.50 น. ด้านหน้าสน.พหลโยธิน มีการตั้งจุดคัดกรองตรวจอุณหภูมิและจดรายชื่อพร้อมกับเบอร์โทรของผู้ที่เข้ามาในพื้นที่สน. ทั้งยังสอบถามถึงจุดประสงค์ของการมาในวันนี้ ก่อนถึงอาคารสน. มีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกระจายตัวตรึงกำลังอยู่ด้านหน้าสน. โดยพนักงานสอบสวนระบุกับผู้สังเกตการณ์ว่า การตั้งจุดคัดกรอง มีขึ้นเพื่อดูแลความปลอดภัยของผู้ต้องหาที่มารับทราบข้อหาในวันนี้ และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายจากกลุ่มการเมือง

เวลา 10.30 น. แจ้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจดเลขบัตรประชาชนไปด้วย พร้อมกำชับและขอให้แจ้งบัตรประชาชน แม้สื่อมวลชนกับผู้ไว้วางใจบางส่วนที่มาถึงก่อนแล้ว ไม่ต้องแจ้งหรือแสดงบัตรประชาชนก็ตาม

เวลา 11.05 น. พ.ต.ท.พิภัสสร์ พูนลัน สารวัตร (สอบสวน) สน.พหลโยธิน และคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคําสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล 2 ที่ 385/2563 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2563 เข้าร่วมการแจ้งข้อกล่าวหาของนายคริษฐ์ ก่อนบรรยายพฤติการณ์คดี พนักงานสอบสวนชี้แจงว่า ได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหา 6 รายที่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ไปแล้ว แต่เนื่องจากมีผู้เสียหาย ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป มากล่าวโทษร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องดำเนินคดีตามกระบวนการ  โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบรูปภาพ ถอดเทปคำปราศรัย และส่งตรวจสอบผู้เชี่ยวชาญทางภาษาและเห็นว่ามีความผิดจริง จึงเรียกคริษฐ์มารับทราบข้อกล่าวหา

พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุ คริษฐ์เข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ2ธันวาไล่จันทร์โอชาออกไป เพื่อเรียกร้องให้นายกออกจากตำแหน่ง ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อมาใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์ มุ่งทำลายสถาบันหลักของชาติ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในกษัตริย์รัชกาลที่ 10 และยังทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทํา ภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่แสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

คริษฐ์พูดปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ในเวลากลางคืนของวันที่ 2 ธ.ค. 63 โดยพูดถึงประเด็นทางประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ราชวงศ์จักรีในอดีต ปัญหาการใช้มาตรา 112 ในการจำกัดสิทธิการวิพากษ์วิจารณ์อดีตกษัตริย์ และย้ำแนวคิดคนเท่ากัน เมื่อพิจารณาเนื้อหาในคำปราศรัยแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าอาจทำให้ประชาชนทั่วไปฟังแล้วดูหมิ่น เกลียดชังกษัตริย์ และยุยงให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

เวลา 13.15 น. พนักงานสอบสวนแจ้ง 8 ข้อหาแก่ นายคริษฐ์

1.ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112)

2.ร่วมกันทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116)

3.ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215)

4.เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกการกระทำแต่ไม่เลิก (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216)

5.ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง (พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10)

6.ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความสะดวกในการจราจร (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385)

7.ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต (พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4)

8.ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย (ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)

นายคริษฐ์ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา โดยตำรวจกำหนดวันยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 17 มี.ค. 64 และได้ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

เวลา 14.00 น. หลังเสร็จกระบวนการรับทราบข้อหา คริษฐ์เล่าให้ผู้สังเกตการณ์ฟังว่า วันนี้จำเป็นต้องหยุดเรียนเพื่อเดินทางมารับทราบข้อหา ซึ่งตนก็เพิ่งทราบวานนี้ว่าถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงสังเกตได้ว่าการเปิดช่องว่างให้ประชาชนเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษข้อหานี้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย เป็นการสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ต้องหา และอาจนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้กลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาได้ง่าย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในจำนวนคดีมาตรา 112 ที่เริ่มกลับมาบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ทั้งหมดอย่างน้อย 44 คดี และมีคดีที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีถึง 23 คดี

อ่านต่อ